ปัจจุบันพบว่าในโลกนี้มียุงประมาณ 3,450 ชนิด ส่วนในประเทศไทยพบว่ามียุงอย่างน้อย 412 ชนิด มีชื่อเรียกตามภาษาไทยแบบง่าย ๆ คือ ยุงลาย ( Aedes ) ยุงรำคาญ ( Culex ) ยุงก้นปล่อง ( Anopheles ) ยุงเสือหรือยุงลายเสือ ( Mansonia ) และ ยุงยักษ์หรือยุงช้าง ( Toxorhynchites ) ซึ่งไม่ครอบคลุมสกุลของยุงทั้งหมดที่มีอยู่ ส่วน “ ยุงดำ ” ที่ปรากฏในตำราเรียนของกระทรวงศึกษานั้นไม่สามารถระบุได้ว่าหมายถึงยุงอะไรจึงควรตัดออก
ยุงเป็นแมลงที่มีขนาดเล็กโดยทั่วไปมีขนาดลำตัวยาว 4-6 มม . บางชนิดมีขนาดเล็กมาก 2-3 มม . และบางชนิดอาจยาวมากกว่า 10 มม .
ยุงมีส่วนหัว อก และท้อง มองเห็นได้อย่างชัดเจนและสามารถแยกออกจากแมลงชนิดอื่น ได้อย่างง่ายๆ โดยสังเกตจากรูปพรรณสัณฐาน ดังต่อไปนี้คือ มีปากคล้ายงวง ยื่นยาวออกไปข้างหน้า และมีปีกสำหรับบิน 1 คู่
ยุงมีวงจรชีวิตแบบสมบูรณ์ (holometabolous) ซึ่งประกอบด้วย ไข่ (egg) ลูกน้ำ (larva; พหูพจน์ =larvae) ตัวโม่ง (pupa; พหูพจน์ =pupae) และยุงตัวแก่ (adult)
ยุงเมื่อลอกคราบออกจากระยะตัวโม่งได้ไม่กี่นาทีก็สามารถออกบินได้เลย อาหารที่ใช้ในระยะนี้ของทั้งตัวผู้และตัวเมียเป็นน้ำหวานจากดอกไม้หรือต้นไม้ การผสมพันธุ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอากาศ บางชนิดการผสมพันธุ์เกิดขึ้นในขณะที่ยุงตัวผู้มีการบินวนเป็นกลุ่ม (swarming) โดยเฉพาะเวลาหัวค่ำและใกล้รุ่ง ตามพุ่มไม้ บนศีรษะ ทุ่งโล่ง หรือบริเวณใกล้กับเหยื่อ เป็นต้น และตัวเมียจะบินเข้าไปเพื่อผสมพันธุ์ ยุงตัวเมียส่วนใหญ่ผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวโดยที่เชื้ออสุจิจากตัวผู้จะถูกกักเก็บในถุงเก็บน้ำเชื้อ ซึ่งสามารถใช้ไปได้ตลอดชีวิตของมัน ส่วนยุงตัวผู้สามารถผสมพันธุ์ได้หลายครั้ง ยุงตัวเมียที่จับได้ตามธรรมชาติมักมีเชื้ออสุจิอยู่ในถุงเก็บน้ำเชื้อเสมอ
ยุงตัวเมียเมื่อมีอายุได้ 2-3 วันจึงเริ่มออกหากินเลือดคนหรือสัตว์ เพื่อนำเอาโปรตีนและแร่ธาตุไปใช้สำหรับการเจริญเติบโตของไข่ในรังไข่ แต่มียุงบางชนิดที่ไม่จำเป็นต้องกินเลือดก็สามารถสร้างไข่ในรังไข่ได้ เช่น ยุงยักษ์ เลือดที่กินเข้าไปถูกย่อยหมดไปในเวลา 2-4 วัน แต่ถ้าอากาศเย็นลงการย่อยจะใช้เวลานานออกไป
เมื่อไข่สุกเต็มที่ยุงตัวเมียจะหาแหล่งน้ำที่เหมาะสมในการวางไข่ หลังจากวางไข่แล้วยุงตัวเมียก็ออกดูดเลือดใหม่และวางไข่ได้อีก บางชนิดที่มีอายุยืนมากอาจไข่ได้ร่วม 10 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 4-5 วัน แต่อาจเร็วกว่าหรือนานกว่า ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและชนิดของยุง ส่วนยุงตัวผู้ตลอดอายุขัยจะกินอาหารจากแหล่งน้ำหวานของดอกไม้หรือพืชที่ผลิตน้ำตาลในธรรมชาติ เช่นเดียวกันกับยุงบางชนิดที่ตัวเมียไม่กัดดูดเลือดคนหรือสัตว์เลย
ยุงตัวเมียวางไข่ประมาณ 30-300 ฟองต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของยุงและปริมาณเลือดที่กินเข้าไป ไข่จะมีสีขาวหรือครีมเมื่อออกมาใหม่ ๆ และในเวลาไม่กี่นาทีจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำไปจนถึงสีดำ
ไข่ยุงมีรูปร่างลักษณะหลายแบบขึ้นอยู่กับชนิด ยุงลายวางไข่บนวัตถุชื้น ๆ เหนือผิวน้ำ ยุงรำคาญวางไข่ติดกันเป็นแพบนผิวน้ำ ยุงก้นปล่องวางไข่บนผิวน้ำ ส่วนยุงเสือวางไข่ติดกันเป็นกลุ่มใต้ผิวน้ำติดกับพืชน้ำที่ลอยอยู่ ไข่ยุงส่วนใหญ่ทนต่อความแห้งแล้งไม่ได้ยกเว้นไข่ของยุงลายซึ่งสามารถทนทานต่อความแห้งแล้งได้นานหลายเดือน ในเขตร้อนชื้นไข่จะฟักออกเป็นตัวภายใน 2-3 วัน
ลูกน้ำของยุงเป็นระยะที่สามารถแยกแยะออกจากตัวอ่อนของแมลงชนิดอื่นได้ง่าย โดยมีส่วนอกกว้างใหญ่กว่าส่วนหัวและส่วนท้อง เมื่อออกมาจากไข่ใหม่ ๆ จะมีขนาดเล็กมากและค่อยๆ โตขึ้น มีการลอกคราบ 4 ครั้ง ก่อนที่จะเป็นตัวโม่ง ลูกน้ำต้องอาศัยอยู่ในน้ำตลอดระยะที่ดำรงชีวิต มีบางชนิดที่ปรับสภาพพัฒนาตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เช่น สามารถอยู่ได้ในสภาพที่เป็นโคลนเปียก หรือในน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำหรือสูง
ลูกน้ำของยุงชนิดต่าง ๆ หายใจจากผิวน้ำโดยผ่านท่อหายใจ (ยุงลายและยุงรำคาญ) หรือรูหายใจ (ยุงก้นปล่อง) แต่ลูกน้ำของยุงเสือมีท่อหายใจที่สามารถสอดหรือแทงเข้าไปในบริเวณรากของพืชน้ำ โดยเฉพาะพวกจอกและผักตบชวา เพื่อใช้ออกซิเจนจากโพรงอากาศที่อยู่ที่รากหรือลำต้นของพืชน้ำลูกน้ำยุงกินอาหารจำพวก แบคทีเรีย โปรโตซัว ยีสต์ สาหร่าย และพืชน้ำที่มีขนาดเล็ก ลูกน้ำยุงก้นปล่องส่วนใหญ่หากินบริเวณผิวน้ำ บางชนิดอาจดำลงไปกินอาหารใต้ผิวน้ำด้วย ในขณะที่ลูกน้ำยุงลาย ยุงรำคาญ และยุงเสือหากินใต้ผิวน้ำ ลูกน้ำยุงยักษ์กินลูกน้ำชนิดอื่นหรือพวกเดียวกันเองเป็นอาหาร ในเขตภูมิประเทศร้อนชื้นลูกน้ำใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์จึงกลายเป็นตัวโม่งระยะตัวโม่ง (pupa) มีรูปร่างคล้ายตัวจุลภาค ( , ) หรือ “comma” อาศัยอยู่ในน้ำ ตัวโม่งเป็นระยะพักตัวจะไม่กินอาหาร รับเอาอากาศในการหายใจแต่เพียงอย่างเดียว เมื่อถูกรบกวนจะดำน้ำลงสู่ข้างล่างใต้น้ำอย่างรวดเร็วและอยู่ใต้น้ำได้นานหลายนาที ตัวโม่งของยุงลายเสือแตกต่างกับชนิดอื่นโดยมีท่อหายใจแหลมสามารถแทงเข้ารากหรือลำต้นพืชน้ำเพื่อหายใจเหมือนกับระยะลูกน้ำในภูมิประเทศเขตร้อนตัวโม่งจะใช้เวลา 2-4 วัน ยุงตัวเต็มวัยลอกคราบออกมาไม่กี่นาทีก็สามารถบินได้ ยุงตัวเมียบางชนิดชอบกัดกินเลือดคน philic) บางชนิดชอบกินเลือดสัตว์ (zoophilic) บางชนิดกัดดูดเลือดโดยไม่เลือก ยุงสามารถเสาะพบเหยื่อได้โดยอาศัยปัจจัยหลายประการ เช่น กลิ่นตัว คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ( ที่ออกมาจากลมหายใจ ) หรืออุณหภูมิของร่างกายนิสัยการกินเลือดของยุงมีความสำคัญในด้านการแพร่เชื้อโรคหรือปรสิตต่าง ๆ ยุงส่วนมากจะบินกระจายจากแหล่งเพาะพันธุ์ไปได้ไกลออกไปในรัศมีประมาณ 1-2 กิโลเมตร โดยบินทวนลมตามกลิ่นเหยื่อไป กระแสลมที่แรงอาจทำให้ยุงบางชนิดแพร่ออกจากแหล่งเพาะพันธุ์ไปได้ไกลยิ่งขึ้น ในปัจจุบันยุงสามารถแพร่ไปจากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศหนึ่งหรือทวีปหนึ่งไปยังอีกทวีปหนึ่ง โดยอาศัยเครื่องบิน เรือหรือรถยนต์โดยสารในประเทศเขตร้อน ยุงตัวเมียส่วนใหญ่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ 2-3 สัปดาห์ หรือถ้าอุณหภูมิ ความชื้นและแสงสว่างเหมาะสมก็อาจนานถึง 4-6 สัปดาห์ หรือนานกว่านี้ ส่วนยุงตัวผู้โดยทั่วไปมีอายุประมาณ 1 สัปดาห์
ยุงก้นปล่องมีความสำคัญในทางการแพทย์โดยเฉพาะเป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย ในประเทศไทยเท่าที่พบในปัจจุบันมียุงก้นปล่องอย่างน้อย 73 ชนิด แต่มีเพียง 3 ชนิดที่เป็นพาหะสำคัญ สังเกตยุงชนิดนี้ได้ง่ายเวลามันเกาะพัก จะยกก้นชี้เป็นปล่องยุงลายที่พบตามบ้านเรือนหรือชนบท ( Aedes. aegypti, และ Aedes albopictus ) เป็นพาหะสำคัญของโรคไช้เลือดออก ส่วนยุงลายป่าเป็นพาหะโรคเท้าช้างยุงลายชนิด Ae. aegypti หรือ ยุงลายบ้าน พบบ่อยเป็นประจำในเขตเมือง มีขนาดค่อนข้างเล็ก บินได้ว่องไว บน scutum มีลายสีขาวรูปเคียว 2 อันอยู่ด้านข้าง มีขาลายชัดเจน ยุงชนิดนี้เพาะพันธุ์ในภาชนะที่มีน้ำขังทุกขนาดทั้งในและนอกบ้าน ชอบกัดกินเลือดคนมากกว่ากินเลือดสัตว์ มักหากินเวลากลางวันช่วงสายและบ่าย ยุงลายชอบเข้ากัดคนทางด้านมืดหรือที่มีเงาโดยเฉพาะบริเวณขาและแขน ขณะที่กัดมักไม่ค่อยรู้สึกเจ็บ คนถูกกัดจึงไม่รู้สึกตัว ยุง Ae. aegypti กัดทั้งในบ้านและนอกบ้าน และเกาะพักตามมุมมืดในห้อง โอ่ง ไห หรือตามพุ่มไม้ที่เย็นชื้นยุงลายอีกชนิดหนึ่ง คือ Ae. albopictus หรือยุงลายสวน พบได้ทั่วไปในเขตชานเมือง ชนบทและในป่า มีลวดลายที่ scutum แตกต่างจาก Ae. aegypti คือมีแถบยาวสีขาวพาดผ่านตรงกลางไปตามความยาวของลำตัว เพาะพันธุ์ในภาชนะที่มีน้ำขัง กระบอกไม้ โพรงไม้ กะลามะพร้าว ใบไม้ ฯลฯ ยุงชนิดนี้มีอุปนิสัยคล้าย ๆ กับ Ae. aegypti แต่มีความว่องไวน้อยกว่า
ยุงรำคาญมีหลายชนิดที่ไม่ใช่ก่อความรำคาญเพียงอย่างเดียว แต่เป็นพาหะที่สำคัญของทั้งไวรัสไข้สมองอักเสบและโรคเท้าช้างลูกน้ำยุงรำคาญมักอาศัยอยู่ในน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำนิ่งหรือน้ำไหล ที่ค่อนข้างสกปรกที่มีไนโตรเจนสูงหรือมีการหมักเน่าของพืชยุงรำคาญ ที่พบบ่อยในเขตเมือง ได้แก่ Culex quinquefasciatus เป็นยุงสีน้ำตาลอ่อน เพาะพันธุ์ในน้ำเสีย ตามร่องระบายน้ำ คูและหลุมบ่อต่าง ๆ ยุงรำคาญพบบ่อยในชนบท ได้แก่ Cx. tritaeniorhynchus และ Cx. vishnu, เนื่องจากมีท้องนาเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หลัก โดยเฉพาะช่วงที่ไถนา และบริเวณหญ้าแฉะรกร้าง จึงมีมากในฤดุฝน ยุงชนิดนี้ชอบกัดสัตว์ พวกวัว ควายและหมูมากกว่าคน นอกจากก่อความรำคาญแล้วยังเป็นพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ
ยุงที่ก่อความรำคาญอีกสกุลหนึ่งที่มักกัดในเวลาพลบค่ำ มีขนาดใหญ่บินช้าๆ และกัดเจ็บ คือ ยุง Armigeres ไม่มีชื่อภาษาไทยยุงลายเสือหรือยุงเสือ ลำตัวและขามีลวดลายค่อนข้างสวยงาม บางชนิดมีสีเหลืองขาวสลับดำคล้ายลายของเสือโคร่ง เช่น Ma. uniformis บางชนิดมีลายออกเขียว คล้ายตุ๊กแก เช่น Ma. annulifera ยุงเหล่านี้ชอบเพาะพันธุ์ในบริเวณที่เป็นหนอง คลอง บึง สระ ที่มีพืชน้ำพวก จอกและ ผักตบชวา อยู่ยุงลายเสือจะมีปีกแตกต่างจากยุงกลุ่มอื่น คือ เส้นปีกจะมีเกล็ดใหญ่สีอ่อนสลับเข้ม ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดเช่นกัน ทำให้ดูคล้ายมีฝุ่นผงเกาะติดทั่วตัว ขาลายเป็นปล้อง ๆ ตัวแก่มักจะกินเลือดสัตว์มากกว่าคน กัดกินเลือดนอกบ้าน โดยเฉพาะตามทุ่ง หนองน้ำ คลอง บึง ที่มีพืชน้ำขึ้น มักกัดเวลาพลบค่ำหลังพระอาทิตย์ตกดิน หรือบางครั้งกัดตอนกลางวันถ้ามีเหยื่อเข้าไปใกล้บริเวณเกาะพักยุงลายเสือหลายชนิดเป็นพาหะของโรคเท้าช้างในภาคใต้ของประเทศไทย บางชนิดเป็นพาหะบริเวณชายแดนไทย - พม่าการป้องกันยุงกัดเป็นวิธีที่สามารถลดความรำคาญที่เกิดจากยุงและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การนอนในมุ้งหรือมุ้งชุบสารเคมีฆ่าแมลง
การติดตั้งมุ้งลวด การสุมควันไฟไล่ยุง การจุดยากันยุง และการทาสารเคมีไล่ยุง (repellent) เช่น
น้ำมันตะไคร้หอม หรือสารสังเคราะห์ เช่น DEET (diethyltoluamide)การควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ก็สามารถลดจำนวนยุงที่มากัดได้วิธีหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของแหล่งเพาะพันธุ์ ที่ทำได้ง่าย ได้แก่ การดูแลโอ่งน้ำและภาชนะน้ำขังตามบ้านเรือน เพื่อควบคุมยุงลาย ( Ae. aegypti ) หรือการระบายน้ำตามท้องร่องไม่ให้ขังหรือเน่าเสีย เพื่อควบคุมยุงรำคาญ ( Cx. quinquefasciatus ) นอกจากนี้การปล่อยปลาที่กินยุงหรือใช้สารเคมีฆ่าแมลง เช่น Abate ใส่ลงในภาชนะต่าง ๆ ก็เป็นวิธีที่ได้ผล อย่างไรก็ตามในแหล่งเพาะพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่หรือกว้างขวาง เช่น ในท้องนา ลำธาร หรือกระบอกไม้ในป่า การควบคุมลูกน้ำยุงจะทำได้ลำบากมากหรือแทบจะทำอะไรไม่ได้เลยการควบคุมตัวยุง หมายถึงการทำให้ความหนาแน่นของยุงลดลง โดยการใช้วิธีการต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาอาศัยสารเคมีฆ่าแมลง โดยอาจแบ่งเป็น 2 ประเภท คือก ) การลดจำนวนยุงที่ก่อความรำคาญ - ส่วนใหญ่กระทำในครัวเรือน โดยการใช้สารเคมีฆ่าแมลงที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด หรือการใช้กับดักแสงไฟฆ่ายุงข ) การลดจำนวนยุงพาหะ - มักกระทำในวงกว้างเมื่อเกิดมีการระบาดของโรค เช่น การพ่นสารเคมีฆ่าแมลงชนิดฝอยละอองเพื่อลดจำนวนยุงลาย การพ่นสารเคมีฆ่าแมลงชนิดตกค้างในบ้านเรือนและการใช้มุ้งชุบสารเคมีฆ่าแมลงเพื่อควบคุมมาลาเรีย เป็นต้น
ที่มา รศ.ดร.ปรัชญา สมบูรณ์ http://www.med.cmu.ac.th/dept/parasite/public/Mosquito.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น